จำหน่ายแบตเตอรี่แห้ง, ไฟฉุกเฉิน, ป้ายไฟทางออก โคมไฟ หลอดไฟ, อุปกรณ์กันระเบิด สนใจสั่งซื้อโทร 02-755-7383 

การปรับปรุงสภาพการทำงานในพื้นที่อันตราย บทที่ 3

บทที่ 3

การปรับปรุงสภาพการทำงานในพื้นที่อันตราย

พื้นที่อันตรายคือพื้นที่ที่มีแก๊สหรือไอระเหยของสารไวไฟเจือปนในบรรยากาศโดยมีความความเข้มข้นของสารไวไฟมากจนทำให้สามารถจุดติดไฟได้ ดังนั้นวิธีการลดสภาพของพื้นที่อันตรายอย่างง่ายๆ ก็คือการช่วยระบายไอระเหยของสารไวไฟออกไปสู่พื้นที่ภายนอกในบริเวณกว้างที่ไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้เกิดการจุดระเบิดได้ แต่ถ้าการระบายไอระเหยของสารอันตรายนั้นทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือเกิดอันตรายในพื้นที่ข้างเคียง ก็จะต้องมีกรรมวิธีการบำบัดสารอันตรายเสียก่อน

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าความหนาแน่นหรือน้ำหนักของแก๊สหรือไอระเหยของสารแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แก๊สที่เบากว่าอากาศจะลอยสู่ที่สูง ส่วนแก๊สที่มีน้ำหนักมากกว่าอากาศจะลอยสู่ที่ต่ำ ดังนั้นการออกแบบระบบระบายอากาศจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ

รูปที่ 3.1 แสดงการฟุ้งกระจายของไอระเหยของสารที่มีน้ำหนักต่างกัน

3.1 การระบายอากาศ

การระบายอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่อันตรายประเภทที่ 1 ลดระดับความเสี่ยงลง หรือกลายเป็นพื้นที่ปกติที่ไม่มีอันตราย และยังทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกด้วย

การระบายอากาศ (Ventilation) มี 2 แบบ คือ

1.    การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) จะเป็นการระบาย ถ่ายเทแก๊สหรือไอระเหยของสารออกจากสถานที่จัดเก็บออกสู่ภายนอกโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ทางกลอื่นๆมาช่วย ซึ่งการระบายอากาศชนิดนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวของอากาศโดยลมพัดและ/หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศ อย่างเช่นอาคารที่เปิดโล่งการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติสามารถลดระดับการกระจายของแก๊สหรือไอระเหยได้อย่างเพียงพอ แต่ถ้าภายในอาคารจะต้องมีการเปิดผนังและ/หรือหลังคาให้อากาศไหลผ่านได้อย่างสะดวก

2.    การระบายอากาศโดยวิธีกล (Artificial Ventilation) ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวของอากาศโดยใช้อุปกรณ์ เช่น พัดลมระบายอากาศ ซึ่งเหมาะกับการระบายอากาศภายในอาคารหรือพื้นที่ปิด นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีนี้กับพื้นที่การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติมีอุปสรรคหรือการระบายอากาศโดยธรรมชาติไม่เพียงพอ

3.2 การคำนวณการระบายอากาศของห้อง

การใช้พัดลมช่วยระบายอากาศจะต้องคำนึงถึงตำแหน่งการติดตั้งพัดลมและช่องทางการถ่ายเทอากาศให้อยู่ด้านตรงข้ามกัน เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้าแทนที่อากาศที่มีไอระเหยของสารไวไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัติห้องที่ต้องการระบายอากาศอาจมีผนังติดกับพื้นที่โล่งเพียงด้านเดียว การออกแบบจึงต้องใช้ท่อลมและพัดลมดูดอากาศช่วยนำอากาศสะอาดจากภายนอกมาอยู่ด้านตรงข้ามกับช่องทางระบายอากาศ หรือจะใช้พัดลมดูดอากาศภายในห้องซึ่งมีสารไวไฟผ่านท่อลมระบายสู่พื้นที่โล่งด้านนอกก็ได้ อย่างไรก็ตามวิธีการทั้งสองแบบจะต้องระวังมิให้อากาศที่ระบายออกสู่ภายนอกถูกดูดกลับเข้ามาภายในห้องอีก

 

ในการคำนวณใช้สูตร

ปริมาณลม (ลบ.ฟุต/นาที) = ปริมาตรห้อง (ลบ.ฟุต) x อัตราการถ่ายเทอากาศต่อชั่วโมง x 1/60

ตัวอย่างการคำนวณ

ห้องผสมสีมีขนาดห้องกว้าง 10 ฟุต ยาว 12 ฟุต สูง 8 ฟุต โดยกำหนดให้มีอัตราการถ่ายเทอากาศเท่ากับ 5 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง ให้หาอัตราความเร็วลมเพื่อใช้ในงานนี้

วิธีทำ

ปริมาตรของห้อง = กว้าง x ยาว x สูง  = 10 x 12 x 8

= 960 ลบ.ฟุต

จากสูตรการคำนวณ

ปริมาณลมที่ต้องการ                           = 960 x 5 x 1/60

= 80 ลบ.ฟุต/นาที

ดังนั้น เลือกพัดลมที่ให้ปริมาณลมในอัตราอย่างน้อย 80 ลบ.ฟุต/นาที

*อ่านเพิ่มเติม บทที่ 3 การปรับปรุงสภาพการทำงานในพื้นที่อันตราย

 

 ขอขอบพระคุณแหล่งที่มาของข้อมูล คู่มือการตรวจสอบ ติดตั้งระบบ และอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่มีไอระเหยของสารไวไฟ โดยสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ทางทีมงานได้คัดลอก ตัดตอนเนื้อหาของหนังสือมาเผยแพร่กระจายความรู้ ความเข้าใจ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานและบุคคลรอบข้าง (ที่มา http://php.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2015/01/25.pdf)

Visitors: 171,546