จำหน่ายแบตเตอรี่แห้ง, ไฟฉุกเฉิน, ป้ายไฟทางออก โคมไฟ หลอดไฟ, อุปกรณ์กันระเบิด สนใจสั่งซื้อโทร 02-755-7383 

เทคนิคการติดตั้งระบบไฟฟ้าในพื้นที่อันตราย บทที่ 4

บทที่ 4

เทคนิคการติดตั้งระบบไฟฟ้าในพื้นที่อันตราย

เทคนิคการป้องกันการจุดระเบิดของอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละแบบจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าอย่างเหมาะสมกับแนวคิดการป้องกันแต่ละแบบ เพื่อให้สามารถป้องกันการเกิดประกายไฟหรือความร้อนสูงขึ้นโดยการจุดระเบิดเนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ใน 3 กรณีที่สำคัญคือ

4.1 การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่อันตรายแบบปลอดภัยอย่างแท้จริง

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ Zone 0 จะต้องเป็นประเภท Intrinsically Safe [ia] เท่านั้น กล่าวคือ ใช้กำลังไฟฟ้าต่ำมากจนไม่เกิดการจุดระเบิดแม้ว่าจะเกิดลัดวงจรถึงสองจุดในวงจรก็ตาม ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเกิดขึ้นได้   ผู้ออกแบบจะต้องจำกัดกระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยใช้เครื่องป้องกัน (Barrier) ซึ่งมีอยู่หลายแบบตามการออกแบบของวิศวกร รูปด้านล่างแสดงวิธีการใช้เครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินโดยใช้ตัวต้านทานไฟฟ้า และป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกินโดยใช้ Zener Diode โดยมีฟิวส์ช่วยตัดวงจรเมื่อเกิดการลัดวงจรไฟฟ้า ทำให้ระบบจากเครื่องป้องกันไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่อันตรายเป็นระบบที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

รูปที่ 4.1 แสดงระบบไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยจากการจุดระเบิดอย่างแท้จริง 

 

4.2 การเดินสายไฟฟ้าสำหรับระบบไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยจากการจุดระเบิดอย่างแท้จริง

เนื่องจากระบบนี้ถูกออกแบบให้มีพลังงานไฟฟ้าในระบบต่ำมากเพื่อป้องกันการจุดระเบิด แต่ถ้ามีการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าอื่นที่มีพลังงานสูง อาจทำให้เกิดการอาร์กหรือสปาร์กขึ้นที่ท่อร้อยสายหรือเกราะป้องกันสายไฟฟ้าได้ ดังนั้น สายไฟฟ้าของระบบที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงจะต้องติดตั้งแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่นๆ โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

1.ในการเดินสายเปิด ตัวนำและเคเบิลของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงต้องแยกให้อยู่ห่างจากตัวนำและเคเบิลของวงจรทั่วไปอย่างน้อย 50 มม. นอกจากว่าตัวนำของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงเป็นเคเบิลชนิดเอ็มไอ หรือเอ็มซี หรือตัวนำของวงจรที่ไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริงเดินในช่องเดินสายหรือเป็นเคเบิลชนิดเอ็มไอหรือเอ็มซี ซึ่งมีเปลือกหุ้มที่สามารถรับกระแสลัดวงจรลงดินได้

2.ตัวนำของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงไม่ควรอยู่ในช่องเดินสาย รางเคเบิลหรือใช้สายเคเบิลร่วมกับตัวนำของวงจรทั่วไป แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินรวมกัน ตัวนำของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงต้องมีการจับยึดและแยกออกจากตัวนำของวงจรทั่วไปให้ห่างไม่น้อยกว่า 50 มม.หรือกั้นแยกด้วยผนังโลหะที่ต่อลงดินหรือผนังที่ทำด้วยฉนวน หรือตัวนำของวงจรที่ไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริงเป็นเคเบิลชนิดเปลือกนอกโลหะหรือเคเบิลหุ้มด้วยโลหะ ซึ่งเปลือกหรือส่วนหุ้มที่เป็นโลหะต่อลงดินและสามารถรับกระแสลัดวงจรลงดินได้

3.เมื่ออยู่ในเครื่องห่อหุ้ม ตัวนำของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงต้องแยกให้อยู่ห่างจากตัวนำของวงจรทั่วไปไม่น้อยกว่า 50 มม. และต้องจับยึดตัวนำให้แน่นเพื่อป้องกันปลายสายหลุดไปสัมผัสกับขั้วอื่น

4.การกั้นแยกจากตัวนำของวงจรที่มีความปลอดภัยอย่างแท้จริงอื่น ตัวนำของวงจรที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงแต่ละวงจรต้องมีการกั้นแยกออกจากกันโดยให้ตัวนำของแต่ละวงจรอยู่ภายในเปลือกโลหะที่ต่อลงดินหรือใช้ตัวนำที่มีฉนวนหนาไม่น้อยกว่า 0.25 มิลลิเมตร

5.ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือวัดคร่อมระหว่างเครื่องป้องกัน (Barrier) ในขณะที่มีการจ่ายไฟฟ้าในระบบ

6.การเดินสายสามารถใช้วิธีการเดินสายในสถานที่ทั่วไปได้ แต่ต้องมีการกั้นแยกตามที่กล่าวข้างต้นและมีการปิดผนึกทั้งท่อร้อยสายและเคเบิลเพื่อให้ก๊าซ ไอ หรือฝุ่น ผ่านได้น้อยที่สุดสำหรับเครื่องห่อหุ้มที่มีเพียงอุปกรณ์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงอยู่ไม่ต้องปิดผนึกก็ได้

 

7.การต่อลงกราวด์ในระบบไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยจากการจุดระเบิดอย่างแท้จริงจะต้องมีเพียงจุดเดียวเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลย้อนในกรณีที่มีการลงกราวด์มากกว่าหนึ่งจุด

*อ่านเพิ่มเติม บทที่ 4 เทคนิคการติดตั้งระบบไฟฟ้าในพื้นที่อันตราย

 ขอขอบพระคุณแหล่งที่มาของข้อมูล คู่มือการตรวจสอบ ติดตั้งระบบ และอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่มีไอระเหยของสารไวไฟ โดยสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ทางทีมงานได้คัดลอก ตัดตอนเนื้อหาของหนังสือมาเผยแพร่กระจายความรู้ ความเข้าใจ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ลดความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานและบุคคลรอบข้าง (ที่มา http://php.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2015/01/25.pdf)

Visitors: 231,417